แค่เปลี่ยนคำ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้จริงหรือ ?

Drnutsu
1 min readJan 7, 2018

สวัสดีครับบทความนี้ถือเป็นบทความแรกเลยที่ผมย้ายมาเขียนที่ medium ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับผม :)

คุณเคยเจอคนที่พอคุยแล้วรู้สึกมีไฟ รู้สึกฟังแล้วมันจับใจทำให้เกิดแรงผลักดันบางอย่างที่ทำให้เราอยากจะไปลุยทำตามฝันสักตั้งให้มันรู้แล้วรู้รอดไป เจ้าแรงผลักดันนี้ละที่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรากล้าที่จะเผชิญปัญหาลองออกไปเจอปัญหาดูหน่อยสิ เราจะไปได้ไกลแค่ไหนกัน บุคคลที่ประสบความสำเร็จในโลกและผู้นำองค์กรใหญ่ๆ หลายๆคนก็สามารถกล่าวถ้อยคำที่กินใจและเป็นที่จดจำ ทักษะนี้สำคัญกับผู้นำมากๆ เพราะด้วยคำกล่าวเหล่านี้สามารถทำให้ลูกน้องเข้าใจในทิศทาง และจุดประสงค์ขององค์กร และรู้สึกชื่นชมในตัวผู้นำมากขึ้นด้วย คราวนี้คำถามก็คือแล้วคำพูดแบบไหนละที่สามารถปลุกใจคนที่กำลังหมดไฟได้

ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนึงครับ หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “แค่ใช้คำให้เป็นพูดไม่ต้องเก่งก็พลิกสถานการณ์ได้” หนังสือเล่มนี้เล่าเกี่ยวกับเรื่องการใช้คำในสถานการณ์ต่างๆที่ผู้เขียนยกขึ้นมา ผู้เขียนทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการใช้คำ และบังเอิญค้นพบหลักการบางอย่างในการใช้คำ ซึ่งเค้าเคลมว่า สามารถทำให้พฤติกรรมของผู้รับสาส์น เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ โอ้โห! น่าสนใจขึ้นมาทันทีเลยครับ หนังสือเล่มนี้น่าจะตอบคำถามที่สงสัยได้

หนังสือใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยเริ่มจากการเอ่ยชื่อเทคนิคก่อน และต่อด้วยหลักการ และตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆบนโลกนี้ หลายๆคนใช้เทคนิคเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวแต่คงจะดีถ้าเราสามารถนำเทคนิคเหล่านั้นมาใช้ให้ถูกจังหวะครับ เทคนิคในหนังสือจะถูกแบ่งออกมาสองชนิดใหญ่คือ

เทคนิคเพื่อการเพิ่มโอกาสการตอบตกลง

ในบางครั้งเราที่ต้องเสนอทางเลือกให้ผู้เลือก ซึ่งส่วนมากเราก็ต้องการให้ผู้เลือก เลือกสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำมาชักจูงให้ผู้เลือก เลือกตามที่เราต้องการได้โดยผู้เลือกไม่รู้สึกถูกบังคับเลยครับ ทักษะนี้คงเหมาะสมที่จะใช้กับ นักขายต่างๆนะครับ ผมขอยกตัวอย่างจากหนังสือมาประกอบละกัน หนังสือเล่าถึงการใช้เทคนิค ทำกันเป็นทีม ของพนักงานคนนึงที่ได้รับมอบหมายให้จัดงานปาร์ตี้บริษัท แต่เค้าจะชักชวนเพื่อนๆให้มาร่วมทำงานนี้อย่างไรดี หนังสือเริ่มต้นด้วยตัวอย่างที่ไม่ดี เช่นต้องการให้เพื่อนช่วยจัดการเรื่องสถานที่ให้ ถ้าคุณพูดว่า

“ เธอๆช่วยจัดการสถานที่ให้หน่อยได้หรือเปล่า ”

ก็ดูเหมือนเป็นประโยคขอร้องแล้วนะครับ แต่เชื่อสิถ้าไม่ได้อยากทำอยู่แล้ว ในใจลึกๆผู้ฟังคงไม่ได้อยากทำเท่าไร และคงจะหาวิธีปฏิเสธในแว่บแรกแน่ๆ หนังสือเลยเสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ให้คุณลองเปลี่ยนคำพูดเป็น

“ เธอๆเรามาช่วยกันจัดการสถานที่กันหน่อยดีกว่า ”

ฟังแล้วก็รู้สึกอยากไปช่วยทำมากกว่าคำแรกนะครับ ( อันนี้ผมรู้สึกนะ แต่คนอื่นอ่านแล้วรู้สึกเหมือนเดิมหรือเปล่า 555 ) หนังสืออธิบายว่าสาเหตุที่เรารู้สึกดีกับคำพูดที่สองมากกว่าเพราะ มนุษย์เรารู้สึกดีกับการทำเป็นทีมมากกว่าถูกโยนให้รับผิดชอบคนเดียว คือคำพูดแรกฟังแล้วรู้สึกเหมือนโดนโยนงานมาให้ อันนี้ลึกๆหลายๆคนก็คงไม่ชอบ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นคำหลังแล้วกลับทำให้รู้สึกว่า เรามาช่วยๆกันทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นกันเถอะ ฟังแล้วรู้สึกอุ่นใจกว่า ไม่รู้สึกโดนเอาเปรียบโยนงาน ครับผม เห็นได้ว่าแค่เปลี่ยนคำนิดเดียว ก็เปลี่ยนปฏิกริยาตอบรับได้เลย ( ในเชิงทฤษฎี 555 )

การสร้างคำที่ทรงพลัง

ซึ่งเทคนิคชนิดนี้น่าจะตอบโจทย์ปัญหาที่เราตั้งไว้ใน ย่อหน้าแรกได้ เช่นเคยผมจะยกตัวอย่างของการใช้เทคนิคนี้นะครับ หนังสือเล่าถึงการใช้เทคนิค ความขัดแย้ง โดยหนังสืออ้างถือหลักการทางจิตวิทยา gain-loss effect ว่ามนุษย์เราจะรู้สึกดีมากกว่าเมื่อ ผู้ฟังรู้สึกไม่ดีกับประโยคเกริ่นนำแต่ปิดท้ายด้วยประโยคเชิงบวก ดีกว่ามีแต่ประโยคเชิงบวกที่ดูเรียบๆ ตัวอย่างเช่นคำพูดของ steve job ที่พูดกับพนักงานว่า

“ เป็นทหารเรือนั้นน่าเบื่อไม่ท้าทาย จงเป็นโจรสลัด”

หนังสือวิเคราะห์ว่าคำนี้มีการใช้หลักการความขัดแย้งของคำว่า ทหารเรือที่ เคร่งครัดในระเบียบ และคำว่าโจรสลัดที่ ไม่มีกฎเกณท์และเป็นสิ่งตรงข้ามกับทหารเรือ ทำให้คำพูดนี้ดูเป็นที่จดจำและมีมิติมากกว่าพูดแค่ “ จงเป็นโจรสลัด ” นั่นเองครับ

อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆในการหาคำตอบของความลับในการพูดที่กินใจและเป็นที่จดจำ เมื่อผมอ่านจบก็ได้เทคนิคมาพอสมควร แต่ก็ยังเรียกได้ว่ายังไม่ตอบคำถามในย่อหน้าแรกได้ทั้งหมด ความลับในการพูดปลุกใจคงมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย หลายๆคนก็พูดถึงท่าทางระหว่างการพูด การยกตัวอย่างประกอบคำพูด การแสดงสีหน้า และเทคนิคอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และ ความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์อีกหลายอย่างครับ

บทความนี้จบลงที่ตรงนี้ครับ สำหรับคนที่อยากไปลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูผมจะแนบลิงค์ไว้ด้านล่างนะครับ ในหนังสือยังมีเทคนิคอีกหลายอย่าง ที่อาจจะทำให้คุณรู้สึก ว้าว! ขึ้นมาได้ ตัวอย่างที่ผมยกมาในบทความนี้อาจจะยังไม่ทำให้บางคนรู้สึกว่ามันแตกต่างกันยังไง มันดีขึ้นยังไง เพราะจริงๆแล้วคุณก็อาจจะใช้เทคนิคนี้ในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้ตัวอยู่แล้วก็เป็นไปได้ครับ …

ลิงค์หนังสือ

แค่ใช้คำให้เป็น พูดไม่ต้องเก่งก็พลิกสถานการณ์ได้

--

--